8/06/2554

โครงสร้างและหน้าที่ของคลอโรพลาสต์

โครงสร้างของคลอโรพลาสต์
           คลอโรพลาสต์ ประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 2 ชั้น ภายในมีของเหลวเรียกว่า สโตรมา มีเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับกระบวนการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์ด้วยแสงนอกจากนี้ด้านในของคลอโรพลาสต์ ยังมีเยื่อไทลาคอยด์ ส่วนที่พับทับซ้อนไปมาเรียกว่า กรานุม และส่วนที่ไม่ทับซ้อนกันอยู่เรียกว่า สโตรมาลาเมลลา สารสีทั้งหมดและคลอโรฟิลล์จะอยู่บนเยื่อไทลาคอยด์มีช่องเรียก ลูเมน ซึ่งมีของเหลวอยู่ภายใน
           นอกจากนี้ภายในคลอโรพลาสต์ยังมี DNA RNA และไรโบโซมอยู่ด้วย ทำให้คลอโรพลาสต์สามารถจำลองตัวเองขึ้นมาใหม่และผลิตเอนไซม์ไว้ใช้ในคลอโรพลาสต์ในคลอโรพลาสต์เองได้คล้ายกับไมโทคอนเดรีย


หน้าที่ของคลอโรพลาสต์
          หน้าที่หลักของคลอโรพลาสต์คือการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ซึ่งหมายถึงการสังเคราะห์อาหารในรูปน้ำตาลจากการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ (fix carbondioxide) โดยแบ่งปฏิกิริยาออกเป็น 2 ปฏิกิริยาย่อย คือ light reaction และ carbondioxide fixation

 1.light reaction เป็นปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอิเลคตรอนที่มีพลังงานสูงด้วยการใช้แสงไปกระตุ้นให้อิเลคตรอนจากคลอโรฟิลล์ซึ่งได้จากน้ำ และได้ผลิตภัณฑ์เป็นออกซิเจน (O2) ขึ้น อิเลคตรอนที่มีพลังงานสูงนี้จะมีการขนส่งอิเลคตรอนไปยังตัวรับอิเลคตรอนเป็นลูกโซ่ (เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในไมโตคอนเดรีย) โดยบริเวณที่ใช้ในการขนส่งอิเลคตรอนนั้นเกิดขึ้นที่บริเวณเมมเบรนของ thylakoid และขณะเดียวกันจะมีการขับเคลื่อนโปรตอนผ่าน thylakoid membrane และทำให้เกิดการสังเคราะห์ ATP ขึ้นที่บริเวณ stroma ในขั้นตอนสุดท้ายของการขนส่งอิเลคตรอนนั้นจะส่งอิเลคตรอนให้ NADP+ พร้อมกับการเติม H+ ทำให้ได้ NADPH ซึ่งเป็นสารที่มี reducing power สูง เพื่อนำไปใช้ในปฏิกิริยาถัดไปเช่นเดียวกับ ATP โดยสรุปนั้นในปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาที่ใช้พลังงานจากแสงโดยตรง และได้ผลิตภัณฑ์เป็น ATP, NADPH และ O2

 2.carbondioxide fixation เป็นการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์โดยมีเอนไซม์สำคัญคือ RuBisco ที่ต้องใช้พลังงานจาก ATP และ NADPH จากปฏิกิริยาแรก เพื่อให้ได้สารที่อยู่ในรูปน้ำตาลหรือกรดไขมัน หรือ กรดอะมิโน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของพืชต่อไป และมีบริเวณที่เกิดปฏิกิริยาอยู่ที่ stroma ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาที่ใช้พลังงานจากแสงในทางอ้อม
         การเกิดปฏิกิริยาย่อยของการสังเคราะห์ด้วยแสงนั้นมีกลไกในการควบคุมที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยพบว่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์หลายตัวนั้นไม่สามารถทำการเร่งปฏิกิริยาได้ในภาวะที่ไม่มีแสง และสามารถกลับมาทำงานเร่งปฏิกิริยาได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีแสง



อ้างอิง :  http://th.wikipedia.org/wiki/คลอโรพลาสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หากเพื่อนๆมีอะไรสงสัยหรือมีข้อติติงในเนื้อหาที่อาจผิดไปสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้นะค่ะ :)